วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ปัดฝุ่นของเก่าเป็นของใหม่ ขายได้เงินหลักล้าน


 ปัดฝุ่นของเก่าเป็นของใหม่ ขายได้เงินหลักล้าน.jpg


ถ้าใครขายของมาเนิ่นนานก็จะรู้ว่าของบางอย่างขายได้เรื่อยๆ ในขณะที่ของบางอย่างเป็นของคุณภาพดี แต่กลับไม่ได้รับความนิยม สุดท้ายก็ตายจากไป ซึ่ง “การเปลี่ยนแปลง” เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ของคุณภาพดีต่างๆอยู่บนชั้นขายของต่อไปได้


เราจะเปลี่ยนแปลงยังไงดีล่ะ?

ถ้าค้นหาเองมันช้า เราอาจจะต้องหาเส้นทางลัดด้วยการหาต้นแบบ เพื่อดูเป็นแนวทางแล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง ส่วนตัวแล้วเราเป็นคนชอบดูคลิปใน YouTube บังเอิญเปิดไปเจอรายการดูให้รู้ ของคุณฟูจิ ฟูจิซากิ หนุ่มลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรายการที่เล่าเรื่องราวของญี่ปุ่นในมุมของเกร็ดความรู้ทางธุรกิจ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้


คลิปที่เราเขียนในบทความนี้เป็นเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ต้องการปลุกชีวิตงานฝีมือของเก่าที่กำลังจะสาบสูญไป ให้กลับมาฮิตติดลมบนได้อีกครั้ง เรานำเรื่องราวในคลิปมาเรียบเรียงใหม่ ถ้าส่วนไหนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่แทรกเข้าไปก็จะแยกเขียน โดยใส่กรอบสี่เหลี่ยมไว้



300 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลง

คุณนากางะวะ จุน เป็นผู้สืบทอดรุ่นที่ 13 ของกิจการร้านทอผ้าโบราณในเมืองนารา (เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น) จากร้านทอผ้าป่านเก่าแก่ของเมืองนารา เปิดมาแล้ว 300 ปี ในช่วงเริ่มแรกของร้านจะทอผ้าเองและนำผ้ามาขาย เวลาผ่านไปผ้าก็ขายไม่ออกเพราะผ้าจากต่างประเทศจะราคาถูกกว่า แต่ก็ยังรักษาการทอผ้าแบบโบราณเอาไว้

จนถึงปัจจุบันนี้ได้มีการนำงานฝีมือของเก่ามาผสมของใหม่ จนกลายเป็นสินค้าขายดี เปิดร้านขายของที่ระลึกมี 43 สาขา สร้างยอดขายมากกว่า 3 พันล้านเยน กว่าจะมีวันนี้เขาต้องทำอะไรมาบ้าง อ่านต่อกันได้เลยจ้า


ปลุกชีวิตงานฝีมือ ประวัติ.jpg
เรื่องราวจากกี่ทอผ้าเก่าๆกลายมาเป็นร้านขายของที่ระลึก (ผ้าสีฟ้า คือ ผ้าขี้ริ้ว)


การปรับตัวตลอดเวลา

เริ่มจาก 30 ปีที่แล้ว คิดว่าการขายผ้าอย่างเดียวไม่สามารถอยู่รอดได้ จึงต้องขายของให้หลากหลายมากขึ้น เริ่มจากการผลิตผ้าชิ้นเล็กๆ แต่มันก็ยังขายไม่ดี รวมถึงการนำสินค้าไปฝากขายในห้างสรรพสินค้า พอขายไม่ดี จึงถูกห้างฯนำไปลดราคาถูกๆจนดูไร้ค่า

คุณนากางาวะคิดว่าต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ แค่การปรับหน้าตาสินค้า แต่ไม่ได้สร้างเรืองราวให้สินค้าเพื่อให้ดูมีคุณค่า ก็คงไร้ประโยชน์ และถ้าไม่มีร้านของตัวเอง ใครจะมาผลักดันสินค้าของเราได้ดีเท่าตัวเรา จึงต้องมีร้านขายเป็นของตัวเอง นี่เองจึงทำให้มีร้านขายของที่ระลึก 43 สาขาในปัจจุบัน



6 ชิ้นของเก่าที่นำมาเล่าใหม่แล้วขายดี!!


ชิ้นที่ 1 ผ้าขี้ริิ้ว

จากภาพข้างบน ผ้าสีฟ้าที่คุณฟูจิถืออยู่นั้นเป็น “ผ้าขี้ริ้ว” ที่ทำมาจากผ้ามุ้งซึ่งปัจจุบันไม่ได้ผลิตเป็นมุ้งแล้ว แต่นำมาทำเป็นผ้าขี้ริ้ว ความพิเศษอยู่ที่เช็ดแล้วดูดน้ำได้ดีกว่าและแห้งเร็วกว่าผ้าธรรมดาทั่วไป นับว่าเป็นสินค้าขายดีของร้าน นี่เองที่เรียกว่า เป็นการแต่งตัวให้ของโบร่ำโบราณมาในรูปลักษณ์ใหม่ เพื่อทำให้น่าใช้และคนอยากซื้อมากขึ้น 


ชิ้นที่ 2 มีดแบบพิเศษ


ปลุกชีวิตงานฝีมือ มีดกับผ้า.jpg
ภาพมีด : ภาพซ้ายบน (มีดหั่นขนมปัง)และขวาบน(มีดที่คัดเหลือ7 แบบ)
ภาพผ้าของจังหวัดโทยามะ : ภาพล่างซ้ายและขวา


เจ้าของผู้ผลิตมีดกำลังจะปิดกิจการเพราะปัจจุบันขายมีดไม่ได้ พอมาปรึกษาคุณนากางะวะเพื่อให้ช่วยหาทางออก ทำให้ปัจจุบันขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

สาเหตุและทางแก้ไข

  • สาเหตุที่ขายไม่ได้เกิดจากการมีมีดให้เลือกมากเกินไปเพราะมีร้อยกว่าแบบ ทำให้คนไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อมีดแบบไหน
  • ทางแก้ คือ คัดเลือกมีดให้เหลือ 7 แบบและพัฒนามีดร่วมกัน หนึ่งในนั้นมีมีดที่พิเศษ คือ เอาไว้หั่นขนมปังของญี่ปุ่น ซึ่งสมัยก่อนเป็นมีดที่หั่นขนมปังของยุโรปเป็นฟันเลื่อยตลอดทั้งด้าม แต่มีดที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เพื่อหั่นขนมปังของญี่ปุ่นที่ข้างนอกกรอบ ข้างในนิ่ม จึงทำให้ตรงปลายจะเป็นเลื่อย แต่ตรงด้ามเป็นมีดธรรมดา



ความคิดเห็นส่วนตัว :

ถ้ากิจการของเรามีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ในอดีตขายได้ดี แต่ปัจจุบันขายไม่ออก เราควรกลับมาแก้ไขตัวสินค้าก่อน เช่น ลดจำนวนให้น้อยลงเหลือไว้แต่สิ่งที่จำเป็นที่ทุกๆคนใช้กัน พัฒนาการใช้งานให้ง่ายขึ้นและเหมาะสมกับความนิยมของคนในปัจจุบัน



ชิ้นที่ 3 ผ้าที่กำลังจะสาบสูญ

ผ้าของจังหวัดโทยามะนั้นมีการเย็บปักถักร้อยที่มีชื่อเสียง แต่ปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว ทางร้านพยายามนำเรื่องราวต่างๆและฟื้นฟูสิ่งที่เคยหายไปให้กลับมาใหม่ เช่น

  • การโฆษณาจากเรื่องราว ด้วยการเขียนป้ายติดไว้ที่ผ้าว่า ผ้าทอนี้เป็นของจังหวัดโทยามะ ซึ่งเป็นผ้าที่กำลังจะหายสาบสูญไปแล้ว ถ้าคุณมีของอันนี้ไว้ แสดงว่าคุณมีของเด่นของดี ไม่มีใครเหมือนเพราะเป็นการเย็บแบบโทยามะ
  • การนำของเก่าจากผ้าที่ขายเป็นผืน มาผลิตเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า เพื่อจะได้ใช้ผ้าจำนวนมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนผู้ผลิตผ้ามีรายได้มากขึ้นด้วย


ความคิดเห็นส่วนตัว :

ฝีมือการเย็บปักผ้าของคนไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น และอ่อนช้อยงดงาม อาจจะเพิ่มความน่าสนใจ เช่น 

  • เรื่องเล่าว่าผ้าแต่ละผืนกว่าจะได้มานั้นต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง ผ่านภาพตัวการ์ตูนน่ารักๆ ที่ติดอยู่กับแผ่นป้ายบอกราคา
  • ส่งความรู้สึกถึงลูกค้าด้วยข้อความสั้นๆ เช่น “ขอบคุณที่ช่วยกันอนุรักษ์ผ้าไทย”
  • ตัวอย่างวิธีการใช้งานผ้าไทยในชีวิตประจำวัน โดยการแปะแผ่น QR code เพื่อลิงค์เข้า YouTube สอนวิธีการใช้งาน หรือมีภาพตัวอย่างวิธีการใช้งานไว้บริเวณที่ขายก็ได้ เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพได้ชัดเจนเร็วขึ้น

ภาพตัวอย่างใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน

นุ่งผ้าซิ่น.jpg

นุ่งผ้าซิ่น2.jpg

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/siriwan.phaisanwan




ชิ้นที่ 4 จานดินเผาคืนชีพ


ปลุกชีวิตงานฝีมือ งานฝีมือ.jpg
ภาพจานดินเผา : ภาพซ้ายบน , ภาพผ้าเช็ดหน้า : ภาพขวาบน
ภาพลายกิโมโนเพิ่มมูลค่า : ภาพล่างซ้ายขวา

จานดินเผานี้เป็นการเผาที่มีราคาแพงมากๆ มาจากนางาซะกิ แต่เป็นโรงงานที่กำลังจะเจ๊ง ซึ่งมีชื่อเสียงด้วยการผลิตถ้วยชามดินเผา ปัจจุบันปรับเปลี่ยนโดยการนำวิธีการเผามาผสมกับการใส่ลวดลาย แล้วขายในราคาที่ถูก ทำให้พลิกฟื้นกลับขึ้นมาได้ เพราะนำของเก่า ของใหม่และงานดีไซน์มาผสมกัน กลายเป็นของขายดี 



ชิ้นที่ 5 ครอบครัวผ้าเช็ดหน้า

ผ้าเช็ดหน้าที่มีรูปกวางอยู่บริเวณชายผ้า สร้างเรื่องราวด้วยการบอกว่าผืนนี้เป็นกวางคุณแม่ กวางคุณพ่อ กวางลูกสาวและลูกชาย ทำให้คนที่คิดจะซื้อผืนเดียว ก็ซื้อหลายๆผืน ทำให้ขายได้จำนวนที่มากขึ้น
  

ชิ้นที่ 6 เรื่องเล่าจากลายกิโมโน

กระเป๋าใส่เศษสตางค์กับกล่องใส่แว่นตาจากภาพข้างบนนี้เป็นลวดลายของกิโมโน ซึ่งกล่องใส่แว่นตานี้ ดึงดูดความสนใจของคนญี่ปุ่นมากเพราะไม่เคยเห็นลายนี้อยู่บนที่ใส่แว่นตา ลวดลายนี้ หมายถึง “ความเจริญรุ่งเรือง ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีความรุ่งเรือง”  ซึ่งทำให้คนที่ซื้อไปช่วยบอกปากต่อปากได้ เช่น ให้เพื่อนทายว่าลายนี้หมายถึงอะไร มันกลายเป็นเกร็ดความรู้บอกไปเรื่อยๆ ทำให้คนรู้จักและอยากจะมาร้านนี้มากขึ้น

ลวดลายกิโมโนนี้ ถ้าเป็นของไทยก็เปรียบเหมือนลายไทย ลองดิดดูว่าถ้านำลายไทยมาอยู่บนกล่องใส่แว่นตา ที่ใส่ดินสอ มันคงจะเก๋เท่น่าดู นับว่าเป็นอีกหนึ่งไอเดียนี้นำมาใช้ในประเทศไทยก็ได้


ความคิดเห็นส่วนตัว :

การเล่าเรื่องจากลวดลายบนกิโมโนที่หมายถึง ความรุ่งเรือง เมื่อนำมาผสมกับสิ่งของก็จะทำให้เกิดเรื่องราวและสร้างมูลค่าได้ เทคนิดนี้หลายๆคนน่าจะนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น มีอีกหนึ่งเรื่องราวของนักออกแบบเครื่องประดับที่นำเรื่องราวของความโชคดี มาผสมกับการออกแบบได้ผลลัพธ์ออกมาดีเกิดคาด 

จากภาพข้างล่างนี้ ถ้าเราบอกว่าเป็นจี้รูปม้าอาจจะดูธรรมดาไป แต่ถ้าใส่เรื่องราวเข้าไปก็ทำให้เกิดมูลค่าทางจิตใจได้ (ดูความหมายฉบับเต็มได้ที่ลิงค์ใต้รูปภาพ)

ออกแบบ4.jpg
ออกแบบ5.jpg

ชื่อผลงาน :  Carved WHITE OPAL Pendant เป็นจี้ White Opal แกะสลักเป็นรูปม้า

อัญมณี : 

  • จี้ White Opal
  • ล้อมเพชรแท้น้ำ F colour (design by NINA)
  • ปลอกคอม้าประดับพลอยนพเก้า cabochon cut ( เจียร์หลังเบี้ย) ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดา เพทาย และไพฑูรย์

ความหมายของผลงาน :

เจ้าของผลงานเลือก White Opal แกะสลักเป็นรูปม้า มาออกแบบชิ้นงานขึ้นตัวเรือน เพราะมองว่า "ม้า" เป็นสัตว์ที่ดูสง่างาม สื่อความความถึงความสำเร็จ ม้าเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่ง แข็งแรง รวดเร็ว ว่องไวและไม่หยุดอยู่กับที่ และม้ายังเป็นสัญลักษณ์แทนคำอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย  เมื่อนำมาผูกกับความหมายดีๆของของอัญมณีทั้ง 9 ชนิด ทำให้กลายเป็นจี้ที่มีความพิเศษไม่เหมือนใคร แฝงไปด้วยคุณค่าทางจิตใจ



ภาพบรรยากาศร้าน

จากร้านทอผ้ากลายมาเป็นร้านขายของที่ระลึกจำนวน 43 สาขา ที่ผ่านการเดินทางผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 300 ปี นับว่าเป็นเครื่องบอกถึงความพยายามและคิดสร้างสรรค์เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆให้อยู่รอดได้ เห็นภาพนี้แล้วอยากจะรีบจองตั๋วเครื่องบินเดินทางไปซื้อกันเลยทีเดียว


ปลุกชีวิตงานฝีมือ ร้านที่นารา.jpg
ร้านที่เมืองนารา


ปลุกชีวิตงานฝีมือ.jpg
ร้านที่โตเกียว


เคล็ดลับความสำเร็จ

คุณนากางะวะ จุน เดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ไปพบชาวบ้านที่ทำงานฝีมือดีๆ แต่กำลังจะล้มละลาย พวกเขาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้งานฝีมือนั้นมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงวิธีการผลิตที่ทรงคุณค่าไว้เหมือนเดิม โดยทำสิ่งของที่ทุกคนอยากได้และเป็นไอเดียใหม่ ซึ่งแนวคิดของร้านนี้มี 3 อย่าง คือ สวยงาม เป็นการทอพิเศษและมีเรื่องราว เมื่อเรามีของดี ออกแบบดีแล้วยังต้องมีวิธีการจำหน่ายที่ดีด้วย


เทคนิคที่ทำให้ลูกค้าสนใจของในร้านนี้ คือ

  1. การต้อนรับลูกค้าโดยการอธิบายจุดเด่นสินค้าว่าของชิ้นนี้มาจากไหน มีการทอพิเศษอย่างไร ทำให้ลูกค้าเข้าใจแล้วทำให้สินค้ามีเสน่ห์มากขึ้น
  2. การออกแบบ สร้างแบรนด์เองและขายเอง ทำให้เข้าถึงใจลูกค้า
  3. ผลประโยชน์ร่วมกัน  “คนซื้อภูมิใจ ชาวบ้านขายของได้”
  • พัฒนางานฝีมือพื้นเมือง เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน
  • คนที่มาซื้อก็รู้ว่าร้านนี้นำของเก่ามาปรับปรุงใหม่ ลูกค้าภูมิใจที่ได้ช่วยสนับสนุนของที่กำลังจะสาบสูญไปให้กลับมาใหม่ด้วย
  • การรักษาของเก่าให้คงอยู่ต่อไป


จากเรื่องราวนี้ทำให้เรารู้ว่าการยืดอายุของเก่าที่มีเรื่องราวสืบทอดมาช้านาน ให้คงอยู่ต่อไปนั้นจะต้องนำมาปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ ใส่จุดเด่นของเมืองลงไป โดยคงเอกลักษณ์บางอย่างในความเก่านั้นไว้ เพิ่มเติมลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ แต่น่ารักลงไป ให้คนขายอธิบายเรื่องราวให้เข้าถึงหัวใจคนซื้อ แล้วยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย ทั้งหมดคือเคล็ดลับความสำเร็จที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้นะคะ





ขอบคุณจุดกำเนิดของบทความนี้รายการดูให้รู้ ตอน ปลุกชีวิตงานฝีมือ (20 ก.ย. 58)






















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น